"An Industrial Project That Could Change Myanmar"-The New York Times
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 การท่าเรือสหภาพเมียนมาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ( Memorandum of Understanding: MOU) เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งครอบคลุมท่าเรือน้ำลึกทวายและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีข้อเสนอที่จะพัฒนาถนนเชื่อมโยงจากพรมแดนทวายไปสู่ประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่งแบบบูรณาการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม ถนนเชื่อมโยงพรมแดน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 กระทรวงการคลังไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการพัฒนาโครงการทวาย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนและผลักดันโครงการทวาย ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการจากรัฐบาลเมียนมาร์ โดยกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ได้ให้ความสำคัญและมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2555 รัฐบาลไทยและเมียนมาร์ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีคณะทำงาน 3 ระดับ ได้แก่ คณะทำงานร่วมระดับสูงไทย-เมียนมาร์ (Joint High-level Committee: JHC) คณะกรรมการประสานร่วมไทย-เมียนมาร์ (Joint Coordination Committee: JCC) และคณะอนุกรรมการ (Joint Sub-Committee: JSC) 6 สาขา ได้แก่ 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง 2. ด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาธุรกิจ 3. ด้านไฟฟ้าและพลังงาน 4. ด้านการพัฒนาชุมชน 5. ด้านกฏระเบียบ และ 6. ด้านการเงินและการลงทุน เพื่อทำงานร่วมกันในการพัฒนาโครงการทวายให้แล้วเสร็จ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของโครงการทวาย
จากการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทย-เมียนมาร์ (JHC) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงเรื่องโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) และได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ในการก่อตั้ง SPV ซึ่งในเบื้องต้น ทั้ง 2 ฝ่ายจะถือหุ้นฝั่งละ 50% เพื่อให้เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รับสัมปทานการพัฒนาโครงการทวาย รวมทั้งการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยฝ่ายเมียนมาร์ถือหุ้นผ่านหน่วยงาน The Foreign Economic Relations Development (FERD) ส่วนไทยถือหุ้นผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ทั้งนี้รัฐบาลไทยและเมียนมาร์มีแผนที่จะเชิญประเทศที่สนใจเข้าร่วมลงทุนใน SPV เพื่อพัฒนาโครงการทวายต่อไป
ภายหลังการจัดตั้ง SPV จะมีการจัดตั้งนิติบุคคลย่อย (Special Purpose Companies: SPCs) เพื่อพัฒนาโครงการทวายใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ 1. ท่าเรือน้ำลึก 2. ถนนเชื่อมต่อจากโครงการทวายสู่ประเทศไทย ณ ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี 3. นิคมอุตสาหกรรม 4. ระบบไฟฟ้า 5. ระบบน้ำประปาและการบำบัดน้ำเสีย 6. ระบบโทรคมนาคม และ 7. ระบบการขนส่งทางรถไฟ
ระหว่างการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมไทย-เมียนมาร์ (JCC) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 นั้น ได้มีการลงนามในกรอบความตกลงฉบับใหม่ (New Framework Agreement) ระหว่างคณะกรรมการบริหารโครงการทวาย (DSEZ Management Committee) และบริษัททวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด (SPV) โดยให้สิทธิแก่ SPV ในการดูแลบริหารการพัฒนาโครงการทวาย การเชิญชวนและคัดเลือกภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนเป็นนิติบุคคลย่อย (SPCs) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องในโครงการทวายระยะแรกเริ่ม (Initial Phase)
โดยกรอบการตกลงฉบับใหม่นี้ ส่งผลให้โครงการทวายอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือของโครงการ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการ
โครงการที่ลงทุนในทวายนั้น เป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 เขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เขตที่อยู่อาศัย เขตการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไปสู่ประเทศไทย รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทยเมียนมาร์
ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กม. ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลเมียนมาร์ในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค
ประโยชน์สำคัญของท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายนั้นคือ ทำหน้าที่เป็นประตูสู่การค้าใหม่ให้เส้นทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรปและแอฟริกา ซึ่งจะช่วยลดการจราจรที่คับคั่งในช่องแคบมะละกา ลดเวลาการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และเป็นสถานที่ที่ได้เปรียบในการค้าเนื่องจากตรงเข้าถึงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ในนิคมอุตสาหกรรมยังช่วยสร้างตลาดใหม่สำหรับการลงทุนของต่างประเทศ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและจากการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และการพัฒนาระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและสาธารณูปโภคต่างๆในโครงการจะช่วยเพิ่มรายได้สำหรับรัฐบาลเมียนมาร์ผ่านทางภาษีจากโครงการและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานสำหรับคนเมียนมาร์กว่าหลายร้อยหลายพันคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้สหภาพเมียนมาร์จะได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ การใช้ประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรมนี้ จะเปลี่ยนทวายเป็นปลายทางการลงทุนแห่งใหม่และเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคที่สำคัญ การพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ในสหภาพเมียนมาร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่โดยรวมในภูมิภาค