ที่กิน ที่พัก ที่เที่ยวที่กิน ที่พัก ที่เที่ยว เมืองทวาย ประเทศพม่า Myanmar เมืองทวาย ประเทศพม่า Myanmar

ที่กิน ที่พัก ที่เที่ยวที่กิน ที่พัก ที่เที่ยว เมืองทวาย ประเทศพม่า Myanmar เมืองทวาย ประเทศพม่า Myanmar 

จากชายแดนไทย เราก็ไปยังด่านผ่านแดนในเขตพม่า ซึ่งเป็นจุดตรวจแรก ต้องเปลี่ยนรถตู้เป็นทะเบียนประเทศพม่า โดยมี “โบโบ” เด็กหนุ่มที่ทำงานในสมาคมพัฒนาทวายมารอรับ ซึ่งเชื้อสายกะเหรี่ยงของโบโบทำให้เราผ่านจุดตรวจต่างๆ ได้สะดวกขึ้นในด้านการสื่อสารและไม่เสียค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดินพม่าที่ด่าน

ลึกเข้าไปในแผ่นดินพม่าก็จะเจอกับจุดตรวจย่อยๆ อีก 3-4 แห่ง โดยชายแดนบริเวณนี้อยู่ในความดูแลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU: The Karen National Union) และกองกำลังย่อยเคเอ็นแอลเอ (KNLA: Karen National Liberation Army)

เดินทางมาไม่นานนักก็จะผ่านแคมป์ร้างของบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งมีเนื้อที่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยบ้านพักพนักงาน สำนักงาน และลานกว้างที่เต็มไปด้วยวัสดุก่อสร้าง รถบรรทุก และรถก่อสร้างมากมาย แต่ปัจจุบันบริษัทไม่ได้ทำงานแล้ว ไม่มีคนงานไทยแล้ว เหลือคนงานประเทศพม่าเพียงบางส่วน นอกจากนี้มีชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณนี้ โดยทำอาชีพค้าขาย เช่น ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า ร้านอาหาร

วิธีการจีบหมากและส่วนผสมของหมากพม่าแตกต่างกับหมากไทยหลายประการ คือ นำใบพลูไปทาด้วยปูน ซึ่งปูนของที่นี่จะเป็นสีขาวและผสมนมด้วย ต่างกับของไทยที่ใช้ปูนแดง หลังจากนั้นก็ใส่หมาก เครื่องเทศ 4-5 ชนิดซึ่งนำเข้ามาจากทางทิเบต และน้ำหวาน จากนั้นก็พับพลูเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก็เสร็จพร้อมรับ

สำหรับราคาขายหมากอยู่ที่จีบละ 3 บาท ซึ่งสำหรับพ่อค้ารายนี้สามารถขายหมากได้เงินวันละ 300-400 บาทเลยทีเดียว นั่นเพราะคนในประเทศพม่านิยมกินหมากกันมากทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และบางคนกินตลอดแบบคำต่อคำ แม้แต่เด็กหนุ่มโบโบและลุงคนขับรถของเราต่างก็กินหมาก

สินค้าอื่นๆ ของที่นี่ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับของไทย ต่างกันที่ตราสินค้า ทั้งนี้สินค้าบางอย่างก็นำมาจากประเทศไทยด้วยซ้ำ

แม้จะไม่มีคนงานอยู่แล้ว แต่ร้านค้าเหล่านี้ก็ยังสามารถขายของได้ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนใกล้ๆ ถามว่าจะขายของให้ใคร คนงานไม่มีแล้ว ด้านนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีมากนัก แต่ถ้าคนไทยจะมาซื้อสินค้าที่นี่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเจ้าของร้านทุกคนสามารถพูดภาษาไทยได้!

เดินทางมาสักพักเราจึงแวะกินน้ำที่หมู่บ้านบ้านมิตตา (Myitta) บ้านเกือบทุกหลังยังคงเป็นบ้านไม้ บ้านหลังไหนที่อยู่ติดถนนก็จะประกอบอาชีพค้าขายเป็นส่วนใหญ่ สินค้าเช่นน้ำดื่มหลายชนิดก็นำมาจากไทย กับข้าวที่เห็นแม้ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่วัตถุดิบที่ใช้ถ้าเป็นอาหารทะเลเช่น กุ้ง หมึก ฯลฯ จะตัวโตมาก นอกจากนี้ก็มีพวกเนื้อกวาง หมูป่า สนนราคาที่จานละ 30 บาทเท่านั้นทุกเมนู ซึ่งคงหาได้น้อยที่เมืองไทย

ในแม่น้ำตะนาวศรียังมีคนกลุ่มหนึ่่งที่พึ่งพาประโยชน์จากสายน้ำด้วยการร่อนทองโดยใช้เรือ และสร้างที่พักพิงริมแม่น้ำ

ตลอดเส้นทางถนนสายนี้ เราจะเห็นร่องรอยของการเปิดเส้นทางใหม่ที่ลัดเลาะไปตามภูเขา ด้านซ้ายเป็นเหวสู่แม่น้ำ ด้านขวาเป็นหน้าผาสูงชัน ถนนส่วนใหญ่ยังเป็นดินบดอัด ถนนช่วงแรกแถบชายแดนเป็นการถากป่า และลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นสวนหมากที่ถูกบุกรุกเสียหายจากการสร้างถนน ทำให้เราเห็นสวนหมากอยู่ที่ริมขอบหน้าผาติดถนนเป็นระยะๆ

และเนื่องจากการสร้างถนนทำให้ดินตกลงไปในแม่น้ำ จนทำให้แม่น้ำมีสีเหลือง-แดง ขุ่นข้นเป็นน้ำดิน ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำตะนาวศรีได้ และทำให้แม่น้ำตื้นเขิน

นอกจากนี้ ระหว่างทางเราจะเจอคนงานก่อสร้างถนนกระจายอยู่ตามเส้นทางเป็นระยะๆ บ้างกำลังใช้ค้อนทุบหินก้อนใหญ่ๆ ให้กลายเป็นก้อนเล็กๆ บ้างกำลังโกยหินและคัดแยกหินขนาดต่างๆ ไปกองไว้รวมกันด้วยมือ บ้างกำลังเรียงหินบนถนนดินด้วยมือแล้วนำหินละเอียดหรือเล็กที่สุดมาโรยทับ บ้างก็กำลังต้มยางมะตอยในถังเหล็ก บ้างกำลังราดยางถนน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ล้วนใช้แรงสูงและต้องทำด้วยมือ เครื่องมือก่อสร้างประเภททุ่นแรงที่มีให้เห็นคือรถบดอัดถนน

เดินทางราว 10 ชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาถึงตัวเมืองทวายและเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งที่สร้างแบบสมัยใหม่ ในขณะที่ในตัวเมืองทวายส่วนใหญ่อาคารบ้านเรือนต่างๆ ยังคงเป็นศิลปะยุคอาณานิคมอยู่มาก ผู้คนที่นี่ไม่พลุกพล่านมากนักแม้เป็นช่วงค่ำ ร้านค้า ร้านอาหารก็ปิดค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับประเทศไทย ที่นี่ไม่ใช่เมืองแห่งแสงสี เพราะค่าไฟฟ้าที่นี่มีราคาแพงกว่าที่ไทยมาก และผูกขาดโดยเอกชนหรือปั่นไฟใช้เอง เพราะสายส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางมาไม่ถึงทวาย

ด้านอาหารการกิน ทั้งหน้าตาและรสชาติอาหารส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกับของไทยมากนัก (อาจเพราะเราไม่ได้สั่งรายการอาหารท้องถิ่น) แต่ที่ต่างค่อนข้างมากคือขนาดของวัตถุดิบ โดยเฉพาะสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง หมึก ปลา

คนทวายมีภาษาพูดเฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งมีส่วนที่เหมือนกับภาษาพม่าเพียงร้อยละ 40 วิถีชีวิตของคนเมืองนี้ตื่นเช้า นอนเร็ว

หรือแม้แต่ผัก ผลไม้ของทวายก็มีหลายๆ ชนิดที่คล้ายกับไทย เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า 1-2 เท่าตัว เช่น กะหล่ำปลี ฟักทอง ส้ม แตงโม ฯลฯ

ตลาดเช้าที่ทวายมีทั้งเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ของแห้ง ฯลฯ ที่นี่เราจะได้เห็นปลาขนาดใหญ่หลายชนิดที่เราไม่รู้จักทั้งสด แห้ง และหมักกับข้าวคล้ายๆ ปลาส้มของไทย ซึ่งปลาที่ทวายจะขายกันเป็นตัว ราคาที่ไม่กี่สิบบาทจนถึงหลักพันบาทก็มีหากเป็นปลาขนาดใหญ่และหายาก ดังนั้นเราจึงไม่เห็นตาชั่งในตลาดปลา

สินค้าอีกอย่างที่เกือบทุกคนต้องซื้อกลับบ้านคือ “ดอกไม้” เพื่อนำไปบูชาพระ ซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายชนิดเช่นเดียวกับเมืองไทย

ผู้คนที่มาจ่ายตลาดก็มีทั้งที่ปั่นจักรยาน ขับรถจักรยานยนต์ ซึ่งรถ 2 ประเภทนี้จะมีตะกร้าสานขนาดใหญ่บริเวณท้ายรถเพื่อไว้ใส่ของ บางคนก็นั่งรถสามล้อ หรือวินรถจักรยานยนต์รับจ้างซึ่งมีจุดเด่นคือใส่หมวกนิรภัยสีขาว แต่ดูเหมือนจะเป็นหมวกนิรภัยของวิศวกรและช่างในงานก่อสร้างมากกว่า ไม่ได้สวมเสื้อกั๊กสีต่างๆ อย่างประเทศไทย


Visitors: 4,391,833